Ads by Adyim

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ฉลามก็อบลิน (Goblin Shark)

...เมื่อคราวก่อนได้นำเสนอเรื่องราวของฉลามก่อนประวัติศาสตร์ หรือ ฉลามหกเหงือก (Frilled Shark) ไปแล้ว คราวนี้ขอนำเสนอ ฉลามก็อบลิน (Goblin Shark) บ้างครับ รูปร่างแปลกพอๆ กัน
...ฉลามก็อบลินค้นพบเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่น เมื่อปี ค..1897 ในทะเลซางามิใกล้กับโยโกฮาม่า โดยชาวประมงชาวญี่ปุ่น ชื่อของมันนั้นถูกถอดคำมาจากภาษาญี่ปุ่นที่เรียกเจ้าฉลามชนิดนี้ว่า เท็นงูซาเมะ ที่ชาวประมงใช้เรียกมัน เนื่องจากเจ้าฉลามตัวนี้มีจมูกยาว เหมือนอสูรในตำนานของประเทศญี่ปุ่น จาก เท็นงู ก็แปลไปเป็น ก็อบลิน ในเวลาต่อมาครับ

...ฉลามก็อบลินเป็นฉลามน้ำลึก อาศัยอยู่ในทะเลเปิด ที่มีความลึกกว่า
300-1200 เมตร เรียกได้ว่าลึกมากเลยทีเดียว มันไม่ค่อยได้เข้ามายังชายฝั่งให้เราได้เห็นตัวกันง่ายๆ ส่วนใหญ่พบได้ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ไปจนถึงมหาสมุทรแอตแลนติก ที่ออสเตรเลีย อ่าวเม็กซิโก โปรตุเกสก็เคยมีบันทึกว่าจับเจ้าฉลามก็อบลินนี่ได้เหมือนกันครับ แต่ที่จับกันมาได้นั้น ส่วนใหญ่ก็มาจากเรือประมงญี่ปุ่นแทบทั้งสิ้น ชาวญี่ปุ่นนี่หาปลาได้เก่งไม่ใช่เล่นเลยทีเดียวครับ ปลาวาฬก็ล่า ปลาฉลามก็จับ ปลาทะเลก็กิน สมเป็นลูกทะเลจริงๆ

...รูปร่างของเจ้าฉลามก็อบลินนี่ก็ค่อนข้างพิลึกทีเดียวครับคือ มันมีจมูกที่ยาวกว่าฉลามชนิดอื่นมากครับ ยื่นออกไปด้านหน้าเลยตาและปากของมันเสียอีก รูปร่างคล้ายใบมีดปลายทวนหรือดาบอยู่เหมือนกัน ดูจากรูปประกอบก็ได้ครับ แต่ก็ใช่ว่าจมูกยาวอันนี้จะเป็นอวัยวะที่ไร้ประโยชน์นะครับ แต่มันมีประโยชน์กับเจ้าฉลามก็อบลินอย่างมากทีเดียวครับ เดี๋ยวจะพูดถึงต่อไป ลำตัวปกคลุมไปด้วยหนังหนา แต่ออกสีชมพูนิดๆ ครับ ไม่ได้ออกโทนสีน้ำเงินเหมือนฉลามทั่วไป ทั้งนี้เนื่องมาจากเซลล์เม็ดเลือดที่ไหลอยู่ใต้ผิวหนังหนานั้นทำปฏิกิริยาบางอย่างกับออกซิเจน ทำให้สีผิวมันออกชมพูนั่นเอง

...คาดกันว่ารูปร่างเมื่อโตเต็มวัยของมัน อาจมีขนาดความยาว 3.3 เมตรโดยประมาณ และหนักไม่ต่ำกว่า 160 กิโลกรัม และตัวเมียก็น่าจะเล็กกว่าตัวผู้เล็กน้อย ครีบที่หลังและด้านข้าง รวมไปถึงครีบหางก็มีลักษณะโค้งมน

หน้าตาดูแล้วสยองทีเดียว
...แล้วฉลามก็อบลินมันล่าเหยื่อได้อย่างไร ในเมื่อมันอาศัยอยู่ในทะเลลึกที่แสนเย็นเยียบและมืดมิดจนมองไม่เห็น ตรงนี้แหละครับที่อวัยวะจมูกยาวของมันจะได้ใช้ประโยชน์ อาหารของเจ้าฉลามก็อบลินก็ได้แก่สัตว์ทะเลขนาดเล็ก เช่น ปู ปลาหมึก และปลาทะเลชนิดต่างๆ ฉลามก็อบลินล่าเหยื่อด้วยวิธีการจับคลื่นไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาขณะที่เหยื่อเคลื่อนไหว เมื่อเหยื่อเคลื่อนที่ก็จะปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมาในปริมาณที่น้อยมาก แต่เจ้าฉลามนี้มีอวัยวะที่เอาไว้รับกระแสไฟฟ้าอันน้อยนิดนั้นได้ นั่นก็คือจมูกที่ยืดยาวของมันนั่นเองครับ ด้วยความที่มันหาตัวได้ยากเพราะอาศัยอยู่ในทะเลลึก จึงทำให้มีการศึกษาและข้อมูลของมันออกมาน้อยมาก ฉลามชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ครับ เนื่องด้วยอยู่กันคนละแทบจะเรียกว่าซีกโลกเลย ทำให้ยังไม่เคยมีรายงานปรากฏว่าฉลามชนิดนี้ทำร้ายมนุษย์แต่อย่างใด

...ครับ สำหรับบทความนี้ก็คงหมดเพียงเท่านี้ คงไม่ลงรายละเอียดเชิงวิชาการลึกๆ เท่าไหร่ครับ อ่านกันพอเพลินๆ ดีกว่า เจอกันใหม่ในบทความเรื่องหน้าครับ

Credits:
[1.] http://en.wikipedia.org/wiki/Goblin_shark
[2.] http://www.greengoblin.com/internal/corner/shark.html

[3.] google

1 ความคิดเห็น:

BlackAngel กล่าวว่า...

ผมว่าดูตลกมากกว่าสยองนะ ฮ่าๆ

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...