Ads by Adyim

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

หนอนมรณะมองโกลเลีย (Mongolian Death Worm)

     สวัสดีครับ กลับมาอัพเดตบทความกันอีกครั้ง ช่วงนี้อัพเดตบ่อยครับ ชดเชยกับเดือนที่แล้วที่ไม่ค่อยมีการอัพเดตเลย สำหรับบทความเรื่องนี้ ยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ลึกลับอยู่เช่นเคยครับ คราวนี้ไปกันไกลถึงประเทศมองโกลเลียกันเลยทีเดียวครับ เป็นเจ้าของตำนานหนอนยักษ์ลึกลับที่อาศัยอยู่ในทะเลทราย ถ้าพร้อมแล้วเชิญรับชมกันเลยดีกว่าครับ
ภาพวาดของเจ้าหนอนมรณะ
     เจ้าหนอนมรณะตัวนี้ จากตำนานของชนเผ่าพื้นเมืองกล่าวว่าเอาไว้ว่ามันอาศัยอยู่ใน ทะเลทรายโกบีทางตอนใต้ (Southern Gobi desert) มานานกว่าหลายร้อยปีแล้ว ตัวใหญ่กว่าหนอนปกติทั่วไป และมีนิสัยดุร้าย เจ้าหนอนมรณะนี้มีความประมาณ 1-1.4 เมตรกว่า ลำตัวใหญ่หนา มีสีแดงเข้มทั่วลำตัว ลักษณะพิเศษของเจ้าหนอนมรณะชนิดนี้ คือมันสามารถพ่นพิษเพื่อฆ่าเหยื่อหรือศัตรูของมันได้ครับ พิษที่พ่นออกมานั้นคล้ายเมือก (คล้ายกับงูเห่าพ่นพิษนั่นแหละครับ) มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรงเมื่อสัมผัสโดน และสามารถทำอันตรายมนุษย์จนถึงแก่ชีวิตได้ หากสัมผัสโดนจุดสำคัญ แถมพิษชนิดนี้ยังดึงดูดหนอนมรณะตัวอื่นเข้ามาร่วมวงด้วยอีกต่างหาก ชาวมองโกลเรียกเจ้าหนอนมรณะนี้ว่า โอลโกย คอร์โคย (Olgoi Khorkhoi) ครับ กล่าวกันว่าเจ้าหนอนชนิดนี้อาศัยอยู่ใต้ดิน มันใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการจำศีล จะออกมาหาอาหารกินในช่วงเวลาเดือน มิถุนาและกรกฎาคมในแต่ละปีเท่านั้น โดยวิธีล่าเหยื่อของมันก็คือการพ่นพิษเข้าใส่เหยื่อ และรอคอยให้เหยื่อเสียชีวิต จากนั้นจึงลงมือกินเหยื่อ และที่ร้ายยิ่งกว่านั้นคือผิวหนังที่ลำตัวของมันนั้นกล่าวกันว่าหากสัมผัสโดน อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องมาจากพิษกรดอันเข้มข้นที่เป็นเมือกปกคลุมร่างกาย จากคำบอกเล่ายังมีปรากฏอีกว่า บางครั้งเจ้าหนอนมรณะชนิดนี้ยังสามารถปล่อยกระแสไฟฟ้า (Electrical charge) เพื่อทำร้ายเหยื่อของมันให้เป็นอัมพาตอีกทาง
 
วิธีโจมตีของเจ้าหนอนมรณะครับ พ่นพิษและช็อตด้วยไฟฟ้า
     ในปี ค.ศ.1926 ศาสตราจารย์ รอย แชปแมน แอนดริว (prof. roy chapman Andrews) นักบรรพชีวินวิทยา นักประวัติศาสตร์ธรรมชาติชาวอเมริกา ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ซึ่งบางส่วนของหนังสือ มีการเอ่ยถึงเรื่องราวของหนอนมรณะชนิดนี้เอาไว้ด้วย กล่าวว่าชนพื้นเมืองของมองโกลนั้น ถึงแม้ไม่เคยเห็นเจ้าหนอนมรณะนี้ แต่ก็เชื่อถือกันอย่างมากว่ามันมีตัวตนอยู่จริงๆ แต่โดยส่วนตัวแล้ว เขาไม่ค่อยเชื่อถือนิทานปรัมปราแบบนี้สักเท่าใด นักสำรวจชื่อดังชาวเช็ค อิวาน แม็คเคิรล์ (Ivan Mackerle) เป็นอีกหนึ่งในผู้ที่ทำการสำรวจและวิจัยเกี่ยวกับเจ้าหนอนชนิดนี้ อิวานพยายามขอเข้ามาทำการวิจัยในพื้นที่ แต่ก็ติดปัญหาเรื่องพรหมแดนทับซ้อนและด้านการทหารของทั้งสองประเทศระหว่างจีนและมองโกลเลีย จนกระทั่งในปี ค.ศ.1990 เขาจึงได้รับโอกาสเข้าทำการสำรวจพื้นที่ที่กล่าวกันว่ามีเจ้าหนอนมรณะนี้อาศัยอยู่ เขาและทีมงานเริ่มสืบและเก็บข้อมูลจากชาวพื้นเมืองท้องถิ่นของที่นั่น จากคำบอกเล่าที่ อิวาน ได้เก็บข้อมูลมากล่าวถึง ทัศนคติและความเชื่อของชนพื้นเมืองที่ได้รับการถ่ายทอดถึงเรื่องราวของเจ้าหนอนมรณะนี้มาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ มีตอนหนึ่งเล่าถึงเรื่องราวของเด็กคนหนึ่งที่บังเอิญไปพบเจ้าหนอนนี้เข้าและก็ถูกสังหารด้วยพิษอันร้ายกาจของมัน จากอีกคำบอกเล่าหนึ่งกล่าวว่า เจ้าหนอนมรณะนี้จะเคลื่อนที่ไปมาอยู่ใต้ทราย และเวลามันจะสังหารเหยื่อ มันจะเข้าไปใกล้ พอได้ระยะ มันก็จะพุ่งขึ้นมาจากทรายและพ่นพิษเข้าใส่เหยื่อของมัน ในท้ายที่สุดแล้ว อิวาน ก็ไม่สามารถพบเจ้าหนอนชนิดนี้ได้ เป็นการจบการค้นหาเจ้าหนอนมรณะไปอีกสักพัก
ภาพวาดหนอนมรณะกำลังออกมาหาอาหารกิน

     ต่อมาในปี ค.ศ.2003 เดวิด ฟาร์เรียร์ (David Farrier) และ คริสตี้ ดักลาส (Christie Douglas) โปรดิวเซอร์และตากล้องรายการทีวีชาวนิวซีแลนด์และทีมงาน ก็เป็นอีกพวกที่สนใจในเรื่องราวของเจ้าหนอนมรณะอยู่เหมือนกันครับ โดยทั้งสองคนได้เข้าไปถ่ายทำสารคดีค้นหาเจ้าหนอนมรณะยังทางตอนใต้ของทะเล ทรายโกบี โดยเดวิดมั่นใจว่าเจ้าสัตว์ลึกลับชนิดนี้ มีตัวตนอยู่จริงๆ เขาเริ่มจากการคิดและสันนิษฐานแบบง่ายๆ ว่า เรื่องหนอนมรณะนั้น
ซากโครงกระดูกที่มีคนอ้างว่าเป็นหนอนมรณะ (ของปลอมครับ)
ชาวพื้นเมืองมองโกลไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างเรื่องโกหกหรือแต่งนิทานสักเรื่องขึ้นมาหลอกลูกหลานเล่นๆ สืบต่อกันมานับร้อยปี หากพวกเขาเห็นมันจากประสบการณ์ของพวกเขาเอง เจ้าสิ่งนี้มันก็น่าจะมีตัวตนอยู่จริง ในนิทานปรัมปราทั้งหลาย ก็มักจะมีข้อเท็จจริงแฝงอยู่ และถึงแม้ว่าจะมีผู้ที่คว้าน้ำเหลวจากการออกตามหาเจ้าหนอนลึกลับนี้อยู่มากมาย แต่เดวิดก็ยังไม่ยอมแพ้ เขากล่าวว่าบางที สิ่งที่เล่าขานสืบต่อกันมาอาจจะมีข้อมูลที่ผิดเพี้ยนไปบ้างจากความจริง ซึ่งในกรณีของเจ้าสัตว์ลึกลับชนิดนี้ บางทีมันอาจจะไม่ใช่หนอน บางทีมันอาจจะเป็นสัตว์ชนิดอื่นที่ดูคล้ายหนอน ซึ่ง เดวิด คิดว่ามันอาจจะเป็นงูหรือกิ้งก่าที่ไม่มีขาบางชนิด ซึ่งพวกนี้สามารถปรับตัวเข้ากับทะเลทรายได้เป็นอย่างดี หรือไม่ก็อาจจะเป็นสัตว์เลื้อยคลายที่ไม่เคยมีการค้นพบกันมาก่อน ก็นับว่าเป็นการจุดประกายการค้นหาด้วยแนวคิดใหม่ๆ หลังจากใช้เวลาทำการสำรวจพื้นที่และค้นหาอยู่สองสามปี ในท้ายที่สุดแล้ว เดวิด ก็ต้องกลับบ้านมือเปล่าไปเหมือนกับผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนก่อนหน้านี้เช่นกัน ได้เพียงแต่ข้อมูลจากคำบอกเล่าและข้อมูลสำรวจจากภูมิประเทศเท่านั้น แต่ไม่ได้ตัวเจ้าหนอนมรณระนี้แต่อย่างใด หรือว่าพวกเขามองหาผิดจุด มองข้ามอะไรไปบางประการหรือเปล่าครับ
มีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์
     เป็นที่น่ากังขาอยู่หลายจุดถึงความขัดแย้งของเจ้าหนอนมรณะชนิดนี้ ว่าหากมันเป็นหนอนจริง แล้วมันอาศัยอยู่ในทะเลทรายที่มีอากาศร้อนแบบนั้นได้อย่างไร ในเมื่อร่างกายของสิ่งมีชีวิตประเภทหนอนนั้น ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยของเหลวและเมือก แน่นอนครับว่า หากมันอาศัยอยู่ในทะเลทราย หรือจะใต้ผืนทรายแล้วละก็ ของเหลวในตัวของมันนั้นไม่เพียงพอต่อการรักษาระดับสมดุลเคมีในร่างกายให้คงที่ได้ตลอด มันเองก็ไม่น่าจะอยู่รอดได้ภายใต้สภาวะจำกัดจำเขี่ยแบบนั้นเหมือนกัน ยกเว้นแต่เพียงว่ามันเป็นสปีชี่ส์ที่ปรับตัวเข้าหากับสภาวะสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดีเท่านั้นเองครับ ซึ่งในกรณีของเจ้าสัตว์ลึกลับชนิดนี้ บางทีมันอาจไม่ใช่หนอน บางทีมันอาจจะเป็นสัตว์ชนิดอื่นที่ดูคล้ายหนอน ซึ่งเดวิดคิดว่ามันอาจจะเป็นงูหรือกิ้งก่าที่ไม่มีขาบางชนิด ซึ่งพวกนี้สามารถปรับตัวเข้ากับทะเลทรายได้เป็นอย่างดี หรือไม่ก็อาจจะเป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดที่ไม่เคยมีการค้นพบกันมาก่อน ก็อาจเป็นได้ครับ
     สำหรับเรื่องราวของเจ้าหนอนมรณะมองโกเลียนี้ ถือได้ว่าโด่งดังพอสมควรครับ มีการนำเอาเจ้าหนอนนี้ไปสร้างในสื่อต่างๆ ออกมา ไม่ว่าจะเป็น รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วิดีโอเกม สารคดี นิยาย เป็นต้นครับ สำหรับสื่อสารคดีทางโทรทัศน์นั้นก็มีทั้งรายการ Beast Hunter จากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิค เมื่อปี ค.ศ.2010 และซีรี่ยส์เรื่อง Lost Tapes จากดิสคัฟเวอร์รี่ แชนเนล ทั้งในปี ค.ศ.2009 และ 2010 เลยทีเดียวครับ สำหรับสื่อด้านภาพยนตร์ ในปี ค.ศ. 2010 ได้มีการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Mongolian Death Worm ขึ้นมาด้วยครับ แต่ก็เป็นเพียงหนังเกรดบีเท่านั้น เนื้อเรื่องก็พอดูได้ แบบไม่จริงจังอะไรมากนัก สนใจลองหาชมกันดูครับ      สำหรับเรื่องราวของเจ้าหนอนมรณะจากแดนไกลชนิดนี้ ก็ยังคงเป็นตำนานเล่าขานกันจนมาถึงปัจจุบัน และก็คงต่อไปอีกในอนาคต รอคอยการค้นพบจากทีมงานอื่นๆ ที่ยังสนใจในเรื่องเจ้าสัตว์ลึกลับชนิดนี้ หรือไม่ก็รอการจุดประกายแนวคิดทฤษฎีใหม่ ต่อยอดออกไปอีก ก็เป็นได้ครับ สำหรับบทความเรื่องนี้ก็คงต้องจบลงเท่านี้ จนกว่าจะเจอกันใหม่ในบทความเรื่องหน้าครับ

Credit :
1. http://www.couriermail.com.au/journalist-hunts….worm/story-fna7dq6e-1225757388857
2. http://en.wikipedia.org/wiki/Mongolian_death_worm
3. http://animal.discovery.com/tv/lost-tapes/death-worm/
4. http://naturalplane.blogspot.com/2009/07/kiwi-expedition-to-search-for-mongolian.html
5. http://observers.france24.com/content/20090810-mongolian-death-worm-fact-or-fantasy
6. google.com

1 ความคิดเห็น:

สุพจน์ ถาวิระ กล่าวว่า...

ผมว่าไม่น่าจะมีจริงนะถ้ามีจริงก็คงได้เจอตัวมันแล้วล่ะน่าจะเป็นสัตว์ในตำนานมากกว่า

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...