Ads by Adyim

วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2555

ชีดี เมลา พิธีกรรมเลี้ยงจระเข้ (Crocodiles Festival, Pakistan)

     สวัสดีปีใหม่กันอีกครั้งครับ กลับมาอัพเดตต่อจากครั้งที่แล้ว คราวนี้จะพาไปชมพิธีกรรมแปลกๆ พิธีหนึ่งที่ประเทศปากีสถานครับ เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เลี้ยงอาหารจระเข้ ที่สำคัญอีกพิธีหนึ่ง สำหรับอินเดีย ปากีสถาน นั้น จระเข้ถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ มีจิตวิญญาณอาศัยอยู่ครับ ซึ่งจัดกันเป็นประจำทุกปีครับ ถ้าพร้อมแล้วก็ติดตามชมกันได้เลยครับ
จระเข้มักเกอร์ นอนอาบแดดอยู่ในบ่อเลี้ยงของวิหาร

     เทศกาลนี้เรียกว่า ชีดี เมลา หรือ ชีดีจาท (Sheedi mela, Sheedi jaat) ซึ่งถือเป็นเทศกาลชำระล้างจิตวิญญาณประจำปี ของชุมชนชีดี (Sheedis)โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เป็นเวลาสี่วันที่วิหารมันโกเพอร์ (Manghopir Shrine) ที่เมืองมันโกเพอร์ ใกล้กับเมืองกาดาบ รัฐการาจี (Karachi) โดยปกติแล้วจะจัดกันขึ้นในช่วงหน้าร้อนครับ โดยผู้ที่มาร่วมงานก็มีมาจากทั้งรัฐข้างๆ และผู้ที่เดินทางไกลมางานนี้โดยเฉพาะมีตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนผู้เฒ่าอายุ 70-80 ปี เลยทีเดียวครับ พิธีกรรมส่วนใหญ่ก็จะเป็นการร้องเพลงเพื่อชำระล้างจิตใจ และก็สวดขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์
จระเข้มักเกอร์ อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ดุร้าย
ถึงจะบอกว่าปลอดภัย แต่ก็ต้องมีคนคอยช่วยหลายคนครับ
รายล้อมไปด้วยจระเข้ตัวบะเร้อ ถ้าพลาดล้มมานี่ไม่อยากจะคิดครับ
มีความเชื่ออย่างหนึ่งครับว่า หากนำเด็กเพิ่งเกิดมาสวดขอพรกับจระเข้ในวันนี้ ก็จะได้ตามพรที่ขอ
แต่การกระทำแบบนี้เป็นอันตรายอย่างมากครับ ไม่ควรทำตามอย่างยิ่งเลย

     สำหรับไฮไลท์ของเทศกาลนี้ นอกจากพิธีกรรมชำระล้างจิตใจแล้ว ก็ยังมีพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์โดยการป้อนอาหารแก่จระเข้ที่เลี้ยงเอาไว้ในบ่อ ของวิหารอีกด้วยครับ โดยเนื้อที่นำมาป้อนให้แก่จระเข้นั้นก็ยังต้องผ่านพิธีกรรมทำให้เนื้อมีความ บริสุทธิ์ นัยว่าเพื่อเพิ่มความขลังซะก่อน สำหรับขนาดของบ่อศักดิ์สิทธิ์นี้มีความยาว 120 เมตร กว้าง 61 เมตร โดยมีจระเข้จำนวนกว่าร้อยตัวอาศัยอยู่ในบ่อ ขนาดโดยเฉลี่ยของจระเข้แต่ละตัวก็อยู่ที่ประมาณ 2-3 เมตรกว่าครับ โดยตัวที่ถือว่าเป็นหัวหน้าของเหล่าจระเข้นี้ ชื่อว่า มอร์ ซาฮิบ (Mor Sahib)
ระยะประชิด
ส่วนใหญ่แล้วนักบวชเหล่านี้ก็จะมีคนคอยคุ้มกันอีกทางครับ ไม่ได้ทำด้วยตัวคนเดียว
หลังจากคล้องพวงมาลัยให้แก่ มอร์ ซาฮิบ หัวหน้าจระเข้ในบ่อ

จระเข้ตัวนี้มีอายุกว่าร้อยปี มอร์ ซาฮิบนั้นมีความยาวประมาณ 3.7 เมตร ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในบ่อด้วยครับ ลองดูจากในภาพครับ ป้อนกันแบบใกล้ชิดกันเลยทีเดียว แต่ผู้ที่จะกระทำการป้อนเนื้อให้แก่จระเข้ได้นั้นจะต้องเป็นนักบวชประจำวิหารเท่านั้นครับ แต่ก็อาจจะเป็นประชาชนผู้ที่สนใจจะป้อนเนื้อให้แก่จระเข้เหล่านั้นได้ แต่ต้องทำภายในการดูแลของนักบวชเท่านั้นครับ ไม่งั้นอาจเกิดเหตุอันตรายได้โดยเชื่อกันว่าจระเข้นั้นจะไม่ทำอันตรายต่อเหล่านักบวช เพราะพวกเขาให้ความเคารพนับถือมัน แต่หากเป็นคนจากที่อื่นนั้นก็ไม่แน่เหมือนกัน จากนั้นจุดสิ้นสุดของพิธีกรรมนี้ ก็จะเป็นการคล้องพวงมาลัยดอกไม้ให้แก่หัวหน้าจระเข้หรือมอร์ ซาฮิบนั่นเอง ซึ่งจะกระทำโดย กัดดิ นาชีน หรือนักบุญศักดิ์สิทธิ์จะเป็นผู้ลงมือคล้อง ซึ่งจะทำการคล้องได้สำเร็จหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของ มอร์ ซาฮิบ ในวันนั้นด้วยครับ แต่ส่วนใหญ่ก็จะคล้องพวงมาลัยได้เรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาอะไร

ผู้ที่อยู่ภายนอกวิหารก็ร้องรำทำเพลง บ้างก็สวดมนต์ไปตามพิธีกรรม
บรรดาผู้คนที่มาจากทั่วทุกสารทิศเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล "ชีดี เมลา" นี้
     
     ครับ นำมาเล่ากันสั้นๆ พอได้ใจความ ก็เป็นเทศกาลประจำปีที่น่าสนใจอีกเทศกาลหนึ่งของทางประเทศปากีสถาน ที่นำสัตว์ที่เชื่อกันว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อย่างจระเข้เข้ามามีส่วนร่วมพิธีกรรมทางศาสนา เจอกันใหม่บทความหน้าครับ

วิดีโองานเทศกาล (จาก Youtube ครับ)



Credits :

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Sheedi_Mela
2. http://www.thenews.com.pk/TodaysPrintDetail.aspx?ID=52069&Cat=4
3. google.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...