วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554

แผ่นไฟตอส (Phaistos Disc)

วันก่อนได้อ่าน CMB มีอยู่ตอนหนึ่งว่าด้วยเรื่องของ แผ่นไฟตอส (Phaistos Disc) นี้ เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยนำมาทำเป็นบทความอันนี้ขึ้นมาครับ แผ่นไฟตอสนั้นว่าไปแล้วก็นับได้ว่าเป็นวัตถุโบราณที่มีความคาบเกี่ยวอยู่กับวัตถุเหนือกาลเวลา หรือโอพารทส์ (Ooparts) อีกชิ้นหนึ่งก็ว่าได้ แต่จะเพราะอะไรนั้น เชิญติดตามอ่านกันได้เลยครับ

สำหรับเรื่องเล่าคราวนี้ย้อนหลังไปเมื่อปี ค..1908 นักโบราณคดีชาวอิตาลี ลุยจิ เพอร์นิเออร์ (Luigi Pernier) ได้ค้นพบแผ่นเครื่องปั้นดินเผาวงกลมชิ้นหนึ่งในห้องใต้ดิน ที่เมืองไฟตอส บริเวณ พระราชวังไมนอน (Minoan palace) แถบทางใต้ของเกาะครีต ประเทศกรีซ ที่นี่นับว่าเต็มไปด้วยกลิ่นไอทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีนะครับ ว่าไปแล้วมีการขุดค้นพบโบราณสถานหรือโบราณวัตถุซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์จากกรีซ มีอยู่นับไม่ถ้วนทีเดียวนะครับ ไม่ว่าจะเป็นซากเมืองกรุงทรอย เครื่องจักรกลแอนติคีเธร่านี่ก็ใช่ครับ และอื่นๆ อีกมากมายเยอะแยะไปหมด


คาดกันว่าแผ่นไฟตอสนั้น อาจจะถูกสร้างขึ้นในยุคทองเหลือง (Bronze Age) หรือราวสองพันปีก่อนประวัติศาสตร์ครับ ซึ่งลักษณะของแผ่นไฟตอสนั้นมีรูปร่างกลมแบน ทำจากดินเหนียวผสม และใช้กรรมวิธีการเผาไฟเพื่อขึ้นรูปแบบเดียวกันกับที่ใช้กับเครื่องปั้นดินเผาทั่วๆ ไปนั่นเองครับ และขนาดของแผ่นไฟตอสนั้นก็นับว่าไม่ใหญ่เท่าใดนัก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 เซนติเมตรหรือเท่ากับแผ่นจานข้าวเท่านั้นเอง ลวดลายประกอบไปด้วยสัญลักษณ์และลายเส้นวงกลมวิ่งเข้าหาศูนย์กลาง ตามเข็มนาฬิกา และมีลวดลายปรากฏอยู่ทั้งสองด้าน หรือรูปที่แสดงอยู่ทางด้านซ้ายมือนั่นแหละครับ ดูน่าพิศวงดีทีเดียว

สัญลักษณ์ที่ปรากฏบนแผ่นนั้น มีทั้งหมด 241 ตัวครับ จำแนกตามลักษณะได้ 45 รูปแบบ ซึ่งก็เป็นรูปร่างที่ดูแล้วไม่ซับซ้อนครับ ตัวอย่างก็เช่น ภาพคน ขวาน มีด ปลา ดอกไม้ นก วงกลม คันศร เป็นต้น หรือตามตัวอย่างที่แสดงอยู่ในภาพนี่แหละครับ รูปง่ายเหล่านี้ จะนำมาประกอบเป็นถ้อยคำหรือประโยคได้อย่างไร อันนี้ก็น่าสงสัยอยู่เหมือนกันนะครับ หรือว่าจะเป็นเพียง ทำลวดลายขึ้นมาเพื่อความสวยงามเท่านั้น ไม่ได้มีจุดประสงค์อื่นใด อืม น่าคิดทีเดียวเชียวครับรูปแบบสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่บนแผ่นไฟตอส

ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดครับว่าสัญลักษณ์ที่ปรากฏขึ้นบนแผ่นไฟตอสนั้นหมายถึง หรือหมายความว่าอย่างไร และมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์อะไรกันแน่ อาจจะใช้เพื่อบันทึกจารึก หรือคัมภีร์โบราณ หรือเพื่อจุดประสงค์ทางด้านศาสนาในด้านใดด้านหนึ่ง ก็อาจเป็นได้ ในเรื่องนี้ก็ยังคงเป็น
ปริศนาอยู่ครับ จากลักษณะที่บรรยายมานั้น หลายท่านอาจจะคิดว่ามันก็เหมือนเครื่องเครื่องปั้นดินเผาธรรมดาที่มีอยู่ทั่วไปดาษดื่น ไม่เห็นจะแปลกที่ตรงไหนเลย ครับ ความไม่ธรรมดาของแผ่นไฟตอสนั้น อยู่ที่ กระบวนการผลิต ครับ เจ้าแผ่นดินเผาอันนี้มันมีกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างจากเครื่องปั้นดินเผาทั่วไปอยู่ส่วนหนึ่งครับ และจุดที่ว่านี้เอง ทำให้มันมีความพิเศษกว่าเครื่องปั้นดินเผาอื่นๆ ที่พบเจอกัน


การสร้างแผ่นไฟตอสนั้น นอกจากจะใช้กรรมวิธีการขึ้นรูปด้วยการเผาไฟแล้ว ยังใช้วิธีการพิมพ์เข้ามาช่วยในการทำลวดลายของสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ทั้งสองด้านด้วย ซึ่งลวดลายของสัญลักษณ์เช่นนี้ เกิดจากการนำเอา แม่พิมพ์มากดให้เป็นลายทีละตัว แล้วค่อยนำไปเผาเพื่อขึ้นรูปนั่นเองครับ จะเรียกว่าพิมพ์กดขึ้นรูปก็น่าจะได้ ซึ่งจากหลักฐานที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรตามประวัติศาสตร์แล้ว มนุษย์เราเพิ่งจะรู้การใช้การพิมพ์โดยใช้ แม่พิมพ์แบบแยกชิ้นส่วนก็เมื่อปี ค..1450 ซึ่งเป็นแม่พิมพ์ตัวอักษรที่ใช้พิมพ์ไบเบิ้ลฉบับของกูเต็นเบิร์ก (Gutenberg’s Bible)นั่นเองครับ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว ให้แม่พิมพ์ของกูเต็นเบิร์กเป็นแม่พิมพ์แบบตัวอักษร แม่พิมพ์ที่ใช้กับแผ่นไฟตอสนั้นก็จะเป็นแม่พิมพ์แบบลายสัญลักษณ์นั่นเอง และด้วยเหตุผลข้อนี้ อาจจะทำให้นักวิชาการประวัติศาสตร์ต้องพิจารณากันใหม่ในเรื่องของ แม่พิมพ์อันแรกของโลกนั่นเองครับว่าแท้ที่จริงแล้ว เทคนิคการพิมพ์ของมนุษย์นั้น เริ่มมีใช้ขึ้นเมื่อใดกันแน่
มีการถอดความออกมาบ้าง แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์

นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีส่วนใหญ่ต่างก็ยอมรับครับว่า เจ้าแผ่นไฟตอสนั้นน่าจะเป็นของจริงที่เกิดตามยุคสมัยในประวัติศาสตร์ แม้ในปัจจุบันได้มีการเทียบเคียงภาษาและสัญลักษณ์เพื่อที่จะแปลข้อความที่ปรากฏอยู่บนแผ่นไฟตอส ถึงแม้จะมีการนำเสนอในเรื่องของการถอดคำจากแผ่นไฟตอสอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าใจได้ถึงข้อความที่ปรากฏอยู่บนนั้นได้ครับ เทียบเคียงได้แค่คำที่น่าจะออกเสียงได้เท่านั้น ตามภาพตัวอย่างด้านบนนั่นแหละครับ แต่ก็ยังไม่มีนักวิจัยหรือนักวิชาการคนไหนที่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่า สัญลักษณ์แต่ละตัวนั้นหมายถึงอะไร หรือเท่าที่มีการถอดข้อความออกมา โดยใช้เทคนิคเข้ารหัสกับคอมพิวเตอร์เพื่อเทียบเคียงกับภาษาต่างๆ แต่ก็พบว่ายังไม่สามารถถอดข้อความที่สมบูรณ์ออกมาได้จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ครับ

ปัจจุบันนี้แผ่นไฟตอสนั้นยังคงถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ทางโบราณคดีเฮราคลิออน
(Archeological Museum of Heraklion) ประเทศกรีซ รอให้มีพระเอกขี่ม้าขาวเข้ามาช่วยในการถอดภาษาและแปลข้อความที่บันทึกอยู่บนเจ้าแผ่นไฟตอสอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ครับ

2 ความคิดเห็น: